ความเชื่อมั่นต่อวัคซีน ของ การให้วัคซีนโควิด-19 ในประเทศไทย

ผลสำรวจของสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุขเมื่อเดือนมกราคมถึงกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564 ได้ผลว่า มีบุคลากรการแพทย์ที่ต้องการรับวัคซีนโควิด-19 (ไม่ว่าจะเป็นชนิดใดก็ตาม) เพียงร้อยละ 55 โดยวัคซีนที่ต้องการอันดับหนึ่งคือวัคซีนของแอสตราเซเนกา และอันดับสองคือวัคซีนของซิโนแว็ก[19] การสำรวจของสวนดุสิตโพลในเดือนพฤษภาคม 2564 จำนวน 2,644 คน พบว่าวัคซีนที่ผู้ตอบเชื่อมั่นมากที่สุด 5 อันดับแรก ได้แก่ ไฟเซอร์ โมเดอร์นา จอห์นสันแอนด์จอห์นสัน แอสตราเซเนกาและสปุตนิกวีตามลำดับ[67]

ข้อมูลจนถึงวันที่ 25 พฤษภาคม 2564 พบว่ามีผู้เสียชีวิตหลังจากฉีดวัคซีนโควิด-19 แล้วจำนวน 9 คน แต่ทางการระบุสาเหตุการเสียชีวิตว่าเกิดจากโรคประจำตัวและปัจจัยอื่นทั้งหมด[68]

วันที 15 มิถุนายน 2564 ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา ผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊กว่า พบปัญหาบุคคลที่ฉีดวัคซีนซิโนแวคและแอสตราเซเนกาสองเข็มแล้วยังมีภูมิคุ้มกันไม่เพียงพอ อาจต้องฉีดวัคซีนเพิ่มเป็นเข็มที่สาม[69] ในเดือนเดียวกัน อย. สั่งงดฉีดซิโนแวคบางล็อตเนื่องจากพบเป็นเจล[70]

ความกังวลต่อการใช้วัคซีนโคโรนาแว็ก (ของซิโนแวค)

แม้ว่าทางการจีนออกมายอมรับว่าวัคซีนซิโนแวคมีประสิทธิภาพต่ำก็ตาม[71] แต่กระทรวงสาธารณสุขและแพทย์บางส่วนยังคงยืนยันว่าวัคซีนดังกล่าวมีประสิทธิภาพ[72][73] วันที่ 21 เมษายน 2564 กระทรวงสาธารณสุขเปิดเผยว่าเจ้าหน้าที่สาธารณสุขจังหวัดระยองจำนวน 6 รายมีอาการคล้ายโรคหลอดเลือดสมองภายใน 10 นาทีหลังฉีดวัคซีนโคโรนาแวค[74] วันที่ 5 พฤษภาคม 2564 สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติเสนอเกณฑ์จ่ายเงินชดเชยกรณีได้รับความเสียหายจากวัคซีน รายละ 1–4 แสนบาท[75] ในวันที่ 8 พฤษภาคม แพทย์จุฬาคนหนึ่งโพสต์เฟซบุ๊กบรรยายภาวะที่เกิดขึ้นหลังฉีดวัคซีนโควิด-19 ในประเทศไทย โดยเฉพาะวัคซีนโคโรนาแว็ก[76] โดยตั้งชื่อว่า กลุ่มอาการทางระบบประสาทเฉพาะที่ที่สัมพันธ์กับการรับวัคซีน (immunization-related focal neurological syndrome, IRFN)[77][lower-alpha 1] ผู้ป่วยมักมีอาการทางระบบรับสัมผัส เช่น รู้สึกชาด้านใดด้านหนึ่งของร่างกาย เช่น ปลายมือ มุมปาก และแก้ม มักพบเป็นข้างเดียวกันกับที่ฉีดวัคซีน นอกจากนี้อาจพบอาการตาบอดครึ่งซีก (hemianopia) ชั่วคราว และอาการอ่อนแรงชั่วคราวได้ด้วย และอาจพบร่วมกับอาการปวดศีรษะและอาเจียน[78] มักพบในผู้รับวัคซีนที่เป็นเพศหญิงอายุ 20-50 ปี[78] มีการตั้งข้อสังเกตว่ากลไกการเกิดภาวะนี้อาจเกี่ยวข้องกับการหดเกร็งของหลอดเลือดสมอง และยาทางจิตเวชบางชนิดอาจมีกลไกคล้ายคลึงกัน ทำให้มีคำแนะนำจากราขวิทยาลัยจิตแพทย์ในการเลือกหยุดยาบางชนิด ในกรณีที่สามารถหยุดได้โดยไม่มีอันตราย[79]

แหล่งที่มา

WikiPedia: การให้วัคซีนโควิด-19 ในประเทศไทย //www.worldcat.org/issn/0362-4331 https://coconuts.co/bangkok/news/iconsiam-guard-ac... https://covid-19.researcherth.co/vaccination https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/915653 https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/929077 https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/930452 https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/940295 https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/940402 https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/942502 https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/945040